|
![]() |
ในพื้นที่ตำบลเวียงกาหลงมีถนนที่เหมาะสำหรับผู้รักสุขภาพในการออกกำลังกาย เดิน วิ่ง อยู่ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางที่ 1 ถนนเส้นทางบ้านแม่ห่างใต้ หมู่ที่ 6 ถึงบ้านทุ่งม่านเหนือ หมู่ที่ 13 เส้นทางที่ 2 ถนนเส้นทางบ้านแม่ห่างใต้ หมู่ที่ 6 ถึงบ้านป่าจั่น หมู่ที่ 7 โดยทั้งสองข้างทางของถนนจะพบกับวิวทิวทัศน์อันงดงามของแหล่งเพาะปลูกทางการเกษตรในพื้นที่ เช่น ข้าว มันฝรั่ง ที่ทอดยาวขนานไปกับถนนทั้งสองเส้นทาง สลับกับวิวทิวทัศน์ที่ล้อมรอบ ทำให้เป็นเส้นทางที่เหมาะแก่การพักผ่อนและออกกำลังกายเป็นอย่างยิ่ง
สถานที่ตั้ง ถนนเชื่อมต่อ บ้านแม่ห่างใต้ – บ้านทุ่งม่านเหนือ และ ถนนเชื่อมต่อ บ้านแม่ห่างใต้ – บ้านป่าจั่น พื้นที่ หมู่ที่ 6 7 และ 13 ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 08 มิถุนายน 2565 |
![]() | ลานพระยอดขุนพล เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระยอดขุนพล และศาลเจ้าพ่อเวียงกาหลง โดยในปี พ.ศ. 2539 คณะสงฆ์ กลุ่มผู้นำชุมชน และกำนันผู้ใหญ่บ้าน ตำบลเวียงกาหลงในขณะนั้น ได้ร่วมกันระดมทุนทรัพย์ในการสร้างขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์รวมแห่งความรักความสามัคคีของคนในตำบลเวียงกาหลง โดยทั้งสถานที่ประดิษฐานของพระยอดขุนพล และศาลเจ้าพ่อเวียงกาหลง มีการวาดลวดลายศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ ของตำบลเวียงกาหลงที่มีความงดงาม และได้ร่วมกันกำหนดให้มีประเพณีการบวงสรวงสักการะดำหัวเจ้าพ่อเวียงกาหลง ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ซ้ายมือทางเข้าวัดเวียงกาหลง บ้านป่าส้าน หมู่ที่ 5 ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 08 มิถุนายน 2565 |
![]() | ผาสามเส้า เป็นป่าหินที่มีลักษณะเคยเป็นมาก่อนในอดีต มีเนื้อที่กว้างประมาณ 4 ไร่ มีหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ 3 ก้อน โดยตั้งอยู่ใกล้กันลักษณะคล้ายการวางก้อนเส้าหุงข้าวเป็นสามเส้า พื้นที่ใต้หินมีลักษณะเป็นถ้ำจึงได้ชื่อว่า “ม่อนผาสามเส้า” ผาสามเส้า เป็นสถานที่เก่าแก่ เคยมีผู้มาขุดค้นหาสมบัติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 หลังจากนั้นชาวบ้านได้พบวัตถุโบราณอีกหลายอย่าง เช่น เบี้ย กล้องยาสูบโบราณ อิฐโบราณ ซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่าพื้นที่บริเวณนี้น่าจะเคยเป็นที่อาศัยของผู้คนมาก่อน สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่บริเวณทางทิศตะวันตกของ บ้านป่าจั่น หมู่ที่ 7 ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 08 มิถุนายน 2565 |
![]() | วัดพระธาตุดอยกู่เบี้ย เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งที่ชาวอำเภอเวียงป่าเป้าเคารพบูชา พระธาตุดอยกู่เบี้ยเป็นพระธาตุเก่าแก่ที่อยู่คู่บ้านเมืองมานาน สถานที่ตั้งพระธาตุอยู่บนเนินเขาทางทิศตะวันตกของบ้านแม่ห่าง หมู่ที่ ๖ และบ้านแม่ห่างเหนือ หมู่ที่ ๑๐ พระธาตุดอยกู่เบี้ยมีบรรยากาศร่มรื่นเพราะมีป่าไม้แวดล้อมอย่างหนาแน่น บอกถึงสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ บริเวณรอบพระธาตุกู่เบี้ยเป็นป่าชุมชน มีเนื้อที่มากกว่า ๘๐๐ ไร่
สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ บ้านแม่ห่างเหนือ หมู่ที่ 10 ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 08 มิถุนายน 2565 |
![]() | ชาวไทยล้านนามีความตั้งมั่นในบวรพระพุทธศาสนา ทำให้ศาสนาพุทธในภาคเหนือมีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความศรัทธามีมาอย่างต่อเนื่องนั้น เพราะทางภาคเหนือไม่ขาดพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อันเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนา โดยส่วนมากมักเรียกพระสงฆ์ที่ตนเคารพนับถือนั้นว่า"ครูบา"ซึ่งพระสงฆ์ที่มักถูกเรียกว่าครูบานั้น ต้องเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ครองสมณเพศมาแต่สามเณร มีอายุพรรษาสูง และได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างจากศรัทธาสาธุชน แต่ยังมีครูบาท่านหนึ่งที่ได้รับการยอมรับนับถือจากคนทั่วไป ให้ใช้คำนำหน้าว่า"ครูบา" ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร แม้แต่ครูบาบุญชุ่ม ญาณสงฺวโร กล่าวถึงท่านไว้ว่า "นี่เณรน้อยรูปนี้ไม่ธรรมดา ท่านผู้นี้อีกหน่อยจะได้เป็นกำลังของพระศาสนา จะได้เป็นที่พึ่งของศรัทธาแน่นอนในอนาคต" ปัจจุบันนี้ท่านได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นคือ"ครูบาชัยยาปัถพี ชยฺยรตฺนจิตฺโต" แห่งสถานธรรมดอยดวงแก้วสัพพัญญู ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ตนบุญผู้สืบทอดวิชาเก่าแก่ของล้านนา ปัจจุบันสถานธรรมดอยดวงแก้วสัพพัญญู ได้รับการพัฒนาในรูปแบบไทยล้านนา ประกอบด้วยสถานปฏิบัติธรรม พิพิธภัณฑ์พระพิราพพระภรตมุนี ศาลาพระพิราพ ร้านกาแฟดอยดวงแก้ว และอยู่ระหว่างการก่อสร้างพระมหาเจดีย์ดอยดวงแก้วสัพพัญญูที่มีความยิ่งใหญ่และงดงาม สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ บริเวณบ้านทุ่งม่านเหนือ หมู่ที่ 13 ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 08 มิถุนายน 2565 |
![]() | เมืองวัดพระยอดขุนพลเวียงกาหลง อดีตเดิมได้ดำเนินการก่อตั้งขึ้นอยู่บนเนื้อที่เขตติดต่อของที่พักสงฆ์ ป่าอุดมธรรม ทางคณะศรัทธาได้มอบพื้นที่ดังกล่าวถวายแด่พระเดชพระคุณ พระอาจารย์ธรรมสาธิต เวียงกาหลง สภาพพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของชาวไร่ชาวนา และยังมีร่องรอยที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของเมืองเวียงกาหลงเก่า ไม่ว่าจะเป็นเตาเผาโบราณ เศษกระเบื้องเคลือบ ซึ่งแสดงออกถึงวัฒนธรรมประเพณีและร่องรอยทางประวัติศาสตร์ เป็นสถานที่เหมาะสมกับการที่จะบำเพ็ญปฏิบัติธรรม พระเดชพระคุณพระอาจารย์ธรรมสาธิต เวียงกาหลง จึงได้ริเริ่มดำเนินการสร้างสรรค์ปรับภูมิทัศน์ พัฒนาสถานที่ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2536 เป็นต้นมา ให้เป็นสถานที่พักอาศัย ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญธรรมจัดสถานที่เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน เรื่องราวอุทยานธรรมพระพุทธเจ้า 5 พระองค์และแปลงสาธิตการเรียนรู้ในเรื่องภาคการเกษตรอินทรีย์ทั้งยังจัดกิจกรรมการเรียนรู้พื้นที่อนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร และปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่บนถนนสายแม่ขะจาน – วังเหนือ อยู่ห่างจากจากวัดเวียงกาหลงไปทางทิศใต้ประมาณ 300 เมตร ม. 15 บ้านเวียงกาหลง ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 08 มิถุนายน 2565 |
![]() | เมืองวัฒนธรรมเวียงกาหลงเคยเป็นชุมชนโบราณและแหล่งผลิตเครื่องถ้วยที่สำคัญของดินแดนล้านนาในอดีต มีซากเตาทำเครื่องถ้วยโบราณอยู่หลายแห่งกระจายอยู่ในพื้นที่ เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ตั้งอยู่ในเขต บ้านป่าส้าน หมู่ที่ 5 ตำบลเวียงกาหลง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญอีกที่หนึ่ง ชุมชนโบราณ แห่งนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเมืองที่สร้างขึ้นในยุคสมัยใด สำหรับแผนผังในเมืองโบราณแห่งนี้ เมื่อผ่านซุ้มประตูทางเข้าเข้าไป เราจะพบป้ายอธิบายสถานที่ต่าง ๆ ภายในเมืองนี้ประกอบด้วยวัด ศูนย์การเรียนรู้ และเตาเผาโบราณ นอกจากนี้ผู้มาเยือนสามารถเดินท่องเที่ยวไปตามกำแพงทางเดินรอบ ๆ เมือง ชมทัศนียภาพอันสวยงาม แวะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สัมผัสบรรยากาศสมัยก่อนได้ นอกจากวัดเวียงกาหลง อันสงบร่มรื่นแล้ว สิ่งที่พลาดไม่ได้ของการมาเยือนที่นี่คือ เตาเผาโบราณ ใช้เผาเครื่องปั้นดินเผาอันเลื่อง ที่มีทั้งความงามและคุณภาพ บนเครื่องเคลือบแต่ละชิ้นปรากฏลวดลายอ่อนช้อยงดงาม สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่บนถนนสายแม่ขะจาน – วังเหนือ เขตพื้นที่บริเวณวัดเวียงกาหลง ม. 5 บ้านป่าส้าน ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 08 มิถุนายน 2565 |
ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า 1 / 1 (7 รายการ)